สัญลักษณ์ คำขวัญและเพลงประจำการแข่งขัน ของ เอเชียนเกมส์ 1998

สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ

สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ได้มาจากการประกวดที่จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการอำนวยการแข่งขันฯ ซึ่งมีภาพส่งเข้าประกวดจากทั่วประเทศทั้งหมด 181 ภาพ ภาพที่ได้รับคัดเลือกเป็นผลงานของ นางสาวตรึงใจ ตั้งสกุล นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยนำเอาตัวอักษร "A" ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงทวีปเอเชียมาประยุกต์เป็นรูปองค์พระมหาเจย์ดีสีทองที่ใช้เก็บพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งสำคัญสูงสุดของศาสนาพุทธ ซึ่งอักษรตัว "A" อยู่ภายใต้หลังคาทรงไทย มีความบ่งบอกถึงชาวเอเชีย (Asia) และนักกีฬา (Athlete) ที่มาร่วมการแข่งขันทุกชาติ จะได้รับความอบอุ่นด้วยมิตรไมตรีของประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้าน สำหรับรูปดวงอาทิตย์สีแดงเปล่งรัศมีเป็นเปลว 16 แฉก ที่อยู่เหนือสัญลักษณ์ฯ นั้น คือ สัญลักษณ์ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ที่หมายถึง ความรอบรู้ พลังของนักกีฬาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

สัญลักษณ์ Bangkok 1998

สัญลักษณ์ Bangkok 1998 เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักทางกราฟิกที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการกำหนดเอกลักษณ์ของการแข่งขันที่สาขาศิลปกรรมและการออกแบบเพิ่มเติมขึ้นมาในระบบ เพื่อช่วยให้การสร้างภาพลักษณ์ของการแข่งขัน มีความเด่นชัด เป็นสากล มีความยืดหยุ่นในการใช้งานและเพิ่มสุนทรียภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยในด้านของการประชาสัมพันธ์ชื่อของเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันให้เป็นที่ปรากฏ

สัญลักษณ์นี้มีการนำไปใช้ในลักษณะต่างๆ ค่อนข้างมาก เช่น การตกแต่งศูนย์กีฬาและสนามแข่งขัน การจัดทำวัสดุสิ่งพิมพ์เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ เอกสารที่ใช้ในการแข่งขัน เป็นต้น

มิตรภาพไร้พรมแดน

"มิตรภาพไร้พรมแดน" หรือ "Friendship Beyond Frontiers" คำขวัญประจำการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 เป็นวลีที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ที่สนับสนุนและส่งเสริม "ปรัชญาของการแข่งขันกีฬา" อย่างชัดเจนที่สุด หัวใจของปรัชญากีฬา คือ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้รักสามัคคี มีน้ำใจ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาพรวมของมิตรภาพ ซึ่งจเไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ต่างกัน ฯลฯ เมื่อทุกคนเข้าสู่เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ทุกคนจะถูกหล่อหลอมให้เข้าสู่แนวร่วมเดียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในที่สุด โดยคำขวัญนี้เป็นแนวความคิดของ สุขวิช รังสิตพล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13

ช้างไชโย

ช้างไชโย

หลังจากประเทศสมาชิกสภาโอลิมปิกแห่งเอเซีย 43 ชาติ มีมติให้เกียรติประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ จึงมีมติเห็นชอบให้ใช้ช้าง เป็นมาสคอต หรือ สัตว์นำโชคของการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 เนื่องจากช้างเป็นสัญลักษณ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งยังเป็นสัตว์ที่แข็งแรง มีความเฉลียวฉลาด

สำหรับผู้ออกแบบนั้น สำนักเลขาธิการได้มอบหมายให้นายอรรณพ กิตติชัยวรรณ หรือ แอ้ด มติชน นักวาดการ์ตูนชื่อดังของหนังสือพิมพ์มติชน เป็นผู้วาดภาพช้าง และเพื่อให้เกิดภาพสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดให้มีการประกวดตั้งชื่อช้างนำโชคดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้สนใจจากทั่วประเทศ 538 คน ตั้งชื่ส่งเข้าประกวด และมีการตัดสินในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โดยมี นายปัจจัย บุนนาค เป็นประธานผู้ตัดสิน ผลการตัดสินให้ใช้ชื่อช้างนำโชคว่า "ช้างไชโย" ซึงเมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายถึงความแข็งแรง ความฉลาด ความสุขและความสนุกสนาน

ลายจักสาน

ลายจักสาน เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 โดยกำหนดให้ใช้ประกอบในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาการแข่งขัน โดยสื่อความหมายถึงความเป็นเอกภาพในดินแดนเอเชียและสะท้อนคุณค่าถึงมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยไม่เจาะจงว่าเป็นประเทศใดเพราะลายจักสานเป็นศิลปะทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของประเทศส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ ลายจักสานยังถือเป็นสัญลักษณ์ของงานหัตถศิลป์ของชนชาติตะวันออกที่สืบสานกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับแต่อดีตกาล ลวดลายของเส้นสายที่สอดประสานกันนั้น เป็นวิถีที่คุ้นเคยและอบอุ่นของชาวเอเชีย สื่อความหมายถึงคำกล่าวต้อนรับชนทุกชาติ และพลังแห่งเอเชียในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งยังมีนัยสำคัญ คือ เป็นการสอดประสาน ถักทอหรือรวมเข้าด้วยกัน สื่อความหมายถึงความร่วมมือกัน ความสมัครสมาน ความสามัคคี

สัญลักษณ์กีฬา

สัญลักษณ์กีฬา เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักทางกราฟิกที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการกำหนดเอกลักษณ์ของการแข่งขันที่สาขาศิลปกรรมและการออกแบบเพิ่มเติมขึ้นมาในระบบ เพื่อช่วยให้การสร้างภาพลักษณ์ของการแข่งขันมีความเด่นชัด เป็นสากล มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน และเพิ่มสุนทรียภาพแก่การแข่งขัน สัญลักษณ์ที่ออกแบบในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 42 ชนิดกีฬา โดยแบ่งเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มชนิดกีฬาหลักจำนวน 36 ชนิด
  • กลุ่มประเภทกีฬาในกลุ่มชนิดกีฬาหลักจำนวน 4 ประเภทกีฬา
  • กลุ่มชนิดกีฬาสาธิตจำนวน 2 ชนิดกีฬา

เพลงประจำการแข่งขัน

เพลงหลักประจำการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 มีทั้งสิ้น 4 เพลง ได้แก่

  • เพลง บิน เพลงนี้จัดทำขึ้น 2 ภาษา คือ รูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รูปแบบภาษาไทย ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร เรียบเรียงเสียงประสานโดยอุกฤษณ์ พลางกูร ขับร้องโดยชัชชัย สุขาวดี รูปแแบบภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า เพลง FLY ขับร้องโดยฉันทนา กิติยาพันธ์
  • เพลง ช้างไชโย ประพันธ์คำร้องโดยอภิชาติ ดำดี เรียบเรียงเสียงประสานโดยบรูซ แกสตัน และสุริยา เดชบุญพบ ขับร้องโดยอาภาพร นครสวรรค์
  • เพลง แชมเปี้ยนเอเชี่ยนเกมส์ เพลงนี้จัดทำขึ้น 2 ภาษา คือ รูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รูปแบบภาษาไทย ประพันธ์คำร้องและทำนองและเรียบเรียงโดยยืนยง โอภากุล เรียบเรียงดนตรีไทยโดยบรูซ แกสตัน ขับร้องโดยยืนยง โอภากุล
  • เพลง Asian Games In 98 ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยบรูซ แกสตัน